มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์จัดการประชุมคืนข้อมูลโครงการ “การวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ”

1105

วันที่ 7 เมษายน 2564 ณ ห้องประชุมล้านช้าง ชั้น 2 อาคารฝึกประสบการณ์วิชาชีพล้านช้าง มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานในพิธีเปิด ประชุมคืนข้อมูลโครงการ “การวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ” ซึ่งเป็นการดำเนินงานโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ซึ่งมีตัวแทนหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดสุรินทร์ และผู้บริหาร คณาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ สำหรับโครงการการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่

โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนการจัดทำระบบข้อมูลความยากจนและติดตามการช่วยเหลือในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ และเพื่อออกแบบกลไก กระบวนการวิจัยและเครื่องมือในการพัฒนาเชิงพื้นที่ เพื่อสนับสนุนการทำงาน ช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีการติดตาม วิเคราะห์ข้อมูลคนจนและหนุนเสริมกลไกพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน สุดท้ายคือเพื่อสังเคราะห์ข้อมูลพื้นที่ระดับครัวเรือน การทำงานเชิงพื้นที่ แก้ไขปัญหาความยากจนของจังหวัดสุรินทร์ เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเชิงพื้นที่ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลคนจนเป้าหมายจากระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า จำนวน 13,704 ครัวเรือน ใน 17 อำเภอของจังหวัดสุรินทร์ และได้ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจังหวัดสุรินทร์เป็นจังหวัดนำร่อง 1 ใน 10 ของประเทศ ที่มีดัชนีความก้าวหน้าของคนในด้านรายได้ของครัวเรือนต่ำที่สุด ประกอบด้วยจังหวัด ปัตตานี อำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน ชัยนาท ยโสธร ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ มุกดาหาร และกาฬสินธุ์

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ได้ดำเนินโครงการดังกล่าวด้วยกระบวนการทำงานแบบปูพรม โดยเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลทั้ง 5 มิติ ได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านความเป็นอยู่ ด้านการศึกษา ด้านรายได้ ด้านการเข้าถึงบริการภาครัฐ จากข้อมูลครัวเรือนยากจนเป้าหมายในระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคน แบบชี้เป้า (TPMAP) และข้อมูลจากการลงพื้นที่สำรวจจริง หลังจากนั้นได้เชื่อมโยงนำไปสู่การออกแบบระบบการนำเข้าข้อมูลครัวเรือนยากจน ระบบวิเคราะห์ความสามารถในการดำรงชีพทั้ง 5 มิติ ระบบการจำแนกระดับความยากจน ระบบการออกแบบกลยุทธ์การเอาตัวรอดของคนจน เพื่อแก้ไขปัญหาผ่านองค์ความรู้ทางวิชาการ และส่งต่อความช่วยเหลือคนจนผ่านกลไกที่ทำงานประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายระดับจังหวัด หน่วยงานท้องถิ่น รวมถึงภาคประชาสังคม นอกจากจะทำให้เกิดกลไกการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์สำหรับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ด้วยระบบช่วยเหลือในแบบสงเคราะห์ที่เชื่อมโยงกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมแล้ว ฐานข้อมูลครัวเรือนยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ จะมีพลังอย่างยิ่งในการหนุนเสริมผลักดันให้เกิดระบบการสร้างการเรียนรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของครัวเรือนยากจนให้เกิดรายได้ สามารถดูแลตนเองและครอบครัว เพื่อนำไปสู่การวางแผนแก้ไขปัญหาความยากจนในระดับจังหวัด ผ่านกลไกความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ต่อไป
cr.ภาพกิจกรรม : สำนักวิทยบริการฯ , สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์

คลิกดูภาพกิจกรรมทั้งหมด